ประเด็นร้อน

ยื่นบัญชีทรัพย์สิน = ความรับผิดชอบพื้นฐาน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 12,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส  : โดย สารส้ม

 

ต่อเนื่องจากข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

ว่าด้วยประเด็นร้อน เกี่ยวกับการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ครอบคลุมหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระจำนวนมาก

 

ยกตัวอย่าง

 

หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ว่าราชการจังหวัดปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

 

ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ ผู้จัดการกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนยุติธรรม กองทุนสงเคราะห์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

 

ผู้บริหารองค์การมหาชน ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คุรุสภา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สังกัดของรัฐ นายกสภา กรรมการสภา อธิการบดี

 

ฯลฯ 1. ขอยืนยันความเห็นว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่สะดวกจะยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยตามกฎหมายใหม่ ก็ไม่ควรจะไปว่ากล่าวท่านเหล่านั้น หรือเพ่งเล็งในทางเสียๆ หายๆ ถ่ายเดียว เพราะการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้น แม้จะสุจริต แต่ก็มีภาระต้นทุนการดำเนินการและมีโอกาสจะผิดพลาด ซึ่งมี ผลผูกพันในทางกฎหมาย อาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งบางคนที่เข้ามารับตำแหน่งก่อนหน้านี้ ไม่มีเงื่อนไขนี้ แต่เมื่อแก้ไขกติกาใหม่ หากไม่สะดวกที่จะทำงานต่อ ย่อมจะลาออกได้ปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะไปต่อว่าให้เสียหาย

 

แต่ควรให้เวลาในการลาออกไป เปลี่ยนผ่าน แล้วรีบสรรหาคนใหม่ที่มีคุณสมบัติและความพร้อมทำงานในตำแหน่งเหล่านั้น พร้อมปฏิบัติตามทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายใหม่

 

โดยที่การยื่นบัญชีทรัพย์สิน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบพื้นฐาน สำหรับตำแหน่งเหล่านั้น

 

2. บางท่านที่อาจเห็นต่างว่า บางตำแหน่ง เช่นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ได้บริหารงบประมาณแผ่นดินอะไรโดยตรง แต่จะไปให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยทำไม

 

ล่าสุด ได้รับจดหมายเปิดผนึกลูกโซ่ เชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

 

เนื้อหาในหนังสือ แจกจงข้อมูลน่าสนใจ หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อน บางตอน เช่น

 

2.1  ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปลี่ยนแปลงสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้มีอิสระในการบริหารกิจการภายในได้เองทุกเรื่อง โดยมีสภามหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่มาจากการสรรหา(ของผู้บริหาร) มาทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของมหาวิทยาลัย สามารถออกและ/หรือ แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆได้ ดังนั้น การออกนอกระบบ แท้จริงแล้ว คือการช่วยให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการดำเนินงานมากกว่าในอดีต ผู้บริหารมีอิสระและ อำนาจในการทำงานมากขึ้น กรรมการสภาฯก็มีอำนาจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ส่วน สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะอำนาจในการกำกับดูแล การตรวจสอบ ลงโทษ ต่างๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยโดยตรง

 

2.2  วันนี้ ผู้บริหารกับกรรมการสภาฯ เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ทุกอย่างดูราบรื่น ที่มาของกรรมการสภาฯ ตามระเบียบทฤษฎี ก็จะมาจากการสรรหาจากบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเสนอขึ้นมา แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งหมดก็มาจากการคัดสรรจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั่นเอง โดยอาจมีผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสบางคนร่วมอยู่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้กลุ่มเครือข่ายเดียวกัน

 

ในวันนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ อยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง กับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ด้วยสภาพการแบบนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้

 

ส่วนในระดับหน่วยงาน ตามคณะ สาขาวิชาต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้าง ต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้

 

2.3  มีข้อร้องเรียนจากอาจารย์ในบางสถาบันว่า ถ้ามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับกรณีที่ส่อว่าจะมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ของผู้บริหารระดับใดก็ตาม (ถ้าเป็นพวกเดียวกัน) ก็จะได้รับการช่วยเหลือกัน จะไม่พบการทุจริตจากการกระทำของผู้บริหารทั้งสิ้น อาจมีบ้างก็จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่ พนักงาน บุคลากรทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น การบริหารเงินงบประมาณ ปีละสอง-สามพันล้านบาท โดยอิสระเสรีแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะในระบบบริหารงานในปัจจุบัน ไม่มีกลไกการคานอำนาจระหว่างกันอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่มีระบบตรวจสอบ เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ง่าย

 

2.4  เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่รัฐบาล(สำนักงบฯ) ก็ยังจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาให้เหมือนเดิม โดยเฉพาะ งบก่อสร้างและครุภัณฑ์ ไม่ได้ลดลง งบเงินเดือนพนักงานก็ยังให้ตามปกติ พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ใช้งบเงินรายได้ของคณะหรือส่วนกลางมาก่อน ก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงาน(ประจำ) ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งจะมีความมั่นคงสูงกว่า แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับการบรรจุก็คือกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกันหรือสนับสนุนผู้บริหารเท่านั้น ในอนาคต ถ้าจะมีการปลดพนักงานออก ก็จะเป็นพนักงานกลุ่มที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานเงินงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง

 

2.5 ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษา จะไม่โกง ที่สำคัญไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย ขอยกตัวอย่าง วิธีหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและกรรมการสภาฯ เช่น

 

ร่วมกันออกนโยบาย เอาทรัพย์สิน รายได้ของมหาวิทยาลัย ไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงฯเป็นกรรมการ เปิดสัมปทานภายใน เช่น เดินรถ ให้เอกชนที่มีผู้ทรงฯบางคนเป็นหุ้นส่วน

 

สร้างโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆขึ้นมามากมายจนไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร

 

แจกโควตาที่นั่งเด็กนักเรียนสาธิต ให้ผู้ทรงฯ ทุกปี ใครช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากก็ให้มาก

 

ล็อกสเปกซื้อของพรรคพวกตน ขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนให้พวกกันเอง กันอย่างเต็มที่ เอาเงินไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายมืออาชีพปีละหลายล้านบาท ไว้ต่อสู้คดีกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

 

ถ้าเงินงบประมาณไม่พอก็ขึ้นเงินค่าเล่าเรียน ไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ เก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะกลัวมาก เพราะอาจถูกประเมินไล่ออกได้ง่ายมาก

 

ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯทุกคน ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นได้ทางหนึ่ง ซึ่งความจริง ยังต้องหามาตรการอื่นๆเพิ่มอีก หลายมาตรการ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จึงขอสนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย

 

3.เห็นด้วย และขอสนับสนุนข้อเรียกร้องเรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหาร และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ หน่วยงานที่กฎหมาย ป.ป.ช.ยุคนี้ ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นด้วยเช่นกัน

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw